รู้ได้อย่างไร…ใครเสี่ยงกระดูกพรุน กระดูกหัก

หนึ่งในเครื่องมือที่เราใช้ประเมินความเสี่ยงในการเกิดกระดูกหัก คือการตรวจวัดความหนาแน่นกระดูก (bone mineral density) ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานในการบอกว่าใครเป็นโรคกระดูกพรุน ใครเสี่ยงกระดูกหักมากน้อยแค่ไหน อย่างไรก็ตามการตรวจนี้ต้องใช้เครื่องตรวจวัดเฉพาะ ซึ่งไม่ได้มีในทุกโรงพยาบาล และมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง

นอกจากการตรวจวัดความหนาแน่นกระดูกแล้ว เราจะมีวิธีการสำรวจตัวเองเบื้องต้นง่ายๆ อย่างไร ว่าใคร “เสี่ยง” เป็นโรคกระดูกพรุน หรือ กระดูกหัก และเมื่อไรควรไปพบแพทย์

วันนี้ กระดูกกระเดี้ยว ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ ผศ.ดร.นพ.โพชฌงค์ โชติญาณวงษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

อาจารย์เล่าให้ฟังว่าการประเมินความเสี่ยงนั้นทำได้หลายแบบ ตั้งแต่ใช้ข้อมูลแค่อายุเพียงอย่างเดียว (ยิ่งอายุมากยิ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักมาก) หรือใช้ประวัติอื่นๆประกอบด้วย เช่น เพศ น้ำหนัก ส่วนสูง ประวัติการใช้ steroid ประวัติกระดูกหักในครอบครัว ฯลฯ เพื่อให้การทำนายแม่นยำมากขึ้น

ลองมาทำความรู้จักเครื่องมือประเมินความเสี่ยงในการเกิดกระดูกพรุนกันค่ะ

โดยทุกท่านสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมจากข้อมูลด้านล่างของแต่ละรูปได้เลยค่ะ

1. FRAX


เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการทำนายโอกาสในการเกิด “กระดูกหัก” ที่สะโพก และที่ตำแหน่งสำคัญอื่นๆ ภายในระยะเวลา10 ปีข้างหน้า ว่าเป็นกี่ % โดยเราสามารถเลือกฐานข้อมูลของประชากรไทยได้

การประเมินด้วย FRAX® สามารถทำได้เองฟรี ดังนี้

1. เข้าไปที่ https://www.sheffield.ac.uk/FRAX/tool.aspx?lang=th

2. กรอกข้อมูลต่างๆ ลงไป
– ชื่อ/รหัส ไม่จำเป็นต้องกรอกก็ได้
– หากใส่อายุลงไปแล้ว วันเดือนปีเกิดก็ไม่ต้องใส่ได้ (ช่วงอายุที่สามารถประเมินได้โดยเครื่องมือคืออายุ 40-90 ปี)
– ระบุเพศ น้ำหนัก (กิโลกรัม) ส่วนสูง (เซนติเมตร)
– ตอบคำถามปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน 7 ข้อ
– หากไม่มีข้อมูลความหนาแน่นของกระดูกคอสะโพก (femoral neck BMD) ก็ต้องใส่ก็ได้

3. เมื่อใส่ข้อมูลครบแล้วให้กดคำนวณ
– สามารถเลื่อนลงไปดูความหมายของปัจจัยเสี่ยงแต่ละข้อได้ในหน้าเดียวกันบริเวณด้านล่าง

4. การแปลผล ถ้าความน่าจะเป็นที่จะเกิดกระดูกคอสะโพกหัก >3% หรือกระดูกตำแหน่งสำคัญหัก >20% ควรพบแพทย์เพื่อทำการตรวจเพิ่มเติมและวางแผนการรักษา

2. OSTA

Osteoporosis Self Assessment Tool for Asians (OSTA)
เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ใช้เฉพาะอายุและน้ำหนักตัว ในการประเมินความเสี่ยงในเกิดโรคกระดูกพรุน

วิธีการใช้:
ให้ดูอายุและน้ำหนักตัวของผู้ที่ต้องการประเมิน แล้วดูว่าความเสี่ยงตกอยู่ที่สีใด
เช่น ป้ามวลอายุ 62 ปี น้ำหนัก 47 กก. ความเสี่ยงจะอยู่ในโซนสีเหลือง เป็นต้น

อธิบายผลลัพธ์:
สีเขียว คือ โอกาสจะเป็นโรคกระดูกพรุนน้อย
สีเหลือง คือ ความเสี่ยงปานกลาง
สีแดง คือ ความเสี่ยงสูง

แนะนำพบแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติมกรณีที่มีความเสี่ยงปานกลางและความเสี่ยงสูง

3. KKOS

Khon Kaen Osteoporosis Study Score โดย ศ.นพ. ฉัตรเลิศ พงษ์ไชยกุล ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น การประเมินความเสี่ยงในการเกิดกระดูกพรุน ดูจากอายุและน้ำหนักตัว เช่นกัน

สามารถเข้าไปทำแบบประเมินได้ง่ายๆ ที่ https://www.quiz-maker.com/QTBFL85

วิธีการใช้:
เลือกช่วงอายุและน้ำหนักของท่าน

อธิบายผลลัพธ์:
ผลลัพธ์จากแบบทดสอบจะมี 2 แบบคือ

1. มีความเสี่ยงในการเป็นโรคกระดูกพรุนต่ำ
ยังไม่จำเป็นต้องได้รับการตรวจความหนาแน่นกระดูก

2.มีความเสี่ยงในการเป็นโรคกระดูกพรุนสูง
ควรไปตรวจความหนาแน่นกระดูกและรับคำแนะนำจากแพทย์

ลองทำดูแล้วเป็นอย่างไรกันบ้างคะ คนที่ความเสี่ยงต่ำก็อย่าลืมดูแลกระดูกกระเดี้ยวตัวเองต่อไปอย่างสม่ำเสมอนะคะ ทำอย่างไรได้บ้าง กดดูที่บทความก่อนๆ ได้เลยค่ะ